การเปลี่ยนแปลงของภาษา
การเปลี่ยนแปลงของภาษามีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากตัวภาษาเอง และการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากตัวภาษาเองเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามธรรมชาติ และตามกาลเวลา ภาษาทุกภาษาในโลกจะเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อกาลเวลาผ่านไป ดังเช่นที่ภาษาไทยในปัจจุบันมีความแตกต่างจากภาษาไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ส่วนการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกนั้นอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยทางสังคม เช่น การอพยพย้ายถิ่น การติดต่อค้าขาย การไปมาหาสู่ การแต่งงานข้ามชาติ การตกเป็นอาณานิคม ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ได้รับวัฒนธรรมตะวันตกทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวีถีความเป็นอยู่ ภาษาในสังคมก็ย่อมต้องขยายตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
การเปลี่ยนแปลงของภาษาอาจจะพิจารณาได้จากมุมมอง 2 มิติ
คือ มิติของ การลู่ออกของภาษา (linguistic divergence) และมิติของ การลู่เข้าของภาษา (linguistic convergnece)
การลู่ออกของภาษา การลู่ออกของภาษา หมายถึงการที่ภาษาใดภาษาหนึ่งแตกตัวกลายเป็นภาษาย่อยหลายภาษาหรือการที่ภาษาย่อยต่างๆ ของภาษาใดภาษาหนึ่งพัฒนาความแตกต่างจากกันและกัน จนในที่ก็ไม่เข้าใจกันจนกลายเป็นคนละภาษา สาเหตุของการลู่ออกของภาษาได้แก่ การอพยพย้ายถิ่น หรือการขาดการติดต่อสื่อสารของผู้พูดภาษา
การลู่ออกของภาษาเน้นการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่เกิดจากตัวของมันเอง เมื่อผู้พูดอยู่ห่างกัน ภาษาที่พูดก็พัฒนาไปคนละทาง เวลายิ่งผ่านไป ก็ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น ภาษาย่อยต่างๆ ของประเทศอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศสและในประเทศแคนาดา ภาษาไทยในประเทศไทยและในถิ่นชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน
การลู่เข้าของภาษา การลู่เข้าของภาษา หมายถึงการที่ภาษาตั้งแต่ 2 ภาษาขึ้นไปต่างเปลี่ยนแปลงไปจนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะการสัมผัสภาษา ซึ่งเกิดขึ้นในตัวผู้พูดสองภาษาหรือหลายภาษา การใช้ภาษาสองภาษาหรือหลายภาษาสลับกัน ทำให้ภาษาเหล่านั้นยืมลักษณะซึ่งกันและกัน สภาวะเช่นนี้ถ้าเกิดขึ้นกับคนหมู่หมายและเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ภาษาเหล่านั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากทั้งๆ ที่ไม่ใช่ภาษาตระกูลเดียวกัน เช่น ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษามาเลย์ ลู่เข้าหากันจนมีลักษณะทางไวยากรณ์เหมือนกัน เช่น มีการเรียงคำเหมือนกัน และมีการใช้คำโดด โดยไม่เติมวิภัตติปัจจัย เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น